ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้จักได้เข้ามาฉายในบ้านเรา นั่นก็คือ Money Ball เกมล้มยักษ์ ซึ่งดูผิวเผินแล้วก็ไม่ต่างจากภาพยนตร์แนวกีฬาทั่ว ๆ ไป และบทคงไม่แคล้วต้องพบเจอกับความตกต่ำ บากบั่นด้วยความพยายาม หาญกล้ามุ่งมั่นไขว่คว้าหาชัยชนะ

แต่เปล่าเลย เพราะนี่คือภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจาก Moneyball : The Art of Winning an Unfair Game ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของ Billy Beane ในช่วงศึกเบสบอลเวิลด์ซีรีส์รอบเพลย์ออฟฤดูกาล 2001

โดยเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับทีม Oakland Athletics ที่ต้องสูญเสียผู้เล่นดาวดังให้แก่ทีมอื่นที่พร้อมจ่ายค่าเหนื่อยมากกว่า จนสภาพในทีมเริ่มย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ครั้นจะหาผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทดแทนก็ดันมีข้อจำกัดเรื่องงบการเสริมทัพอีก สุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกก็เป็นหน้าที่ของผู้จัดการทั่วไปในขณะนั้นอย่าง Billy Beane ที่จะต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ และพาทีมให้ประสบความสำเร็จให้ได้

โจทย์คือคุณจะหาทางออกจากเขาวงกตอันซับซ้อนนี้ได้อย่างไรในเมื่อสุดท้ายก็ต้องวนกลับมาเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเงินอีกอยู่ดี ?

นี่ถือเป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะในขณะที่ทีมงานคนอื่น ๆ พร้อมจะเสี่ยงเดิมพันกับการคว้าตัวผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีแนวทางการเล่นใกล้เคียงกับตัวที่เสียไปเพื่อนำมาพัฒนาฝีมือ Billy Beane กลับเลือกเดินไปในเส้นทางที่ไม่เคยมีผู้ใดกล้าทำมาก่อน

กุญแจสำคัญพคือการจ้าง Peter Brand นักเศรษฐศาสตร์ผู้ช่ำชองในเรื่องของการคำนวณตัวเลขและสถิติมาวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด จากนั้นจึงเริ่มปฏิวัติแนวคิดเรื่องการทำทีมเบสบอลใหม่ทั้งหมด ในเมื่อทุก ๆ ทีมต่างต้องการผู้เล่นที่มีความสามารถครบเครื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องไปแย่งกับใครเขา หันมาเลือกผู้เล่นที่มีความสามารถอันโดดเด่นเฉพาะทางดีกว่า เช่น หาคนที่ขโมยเบสเก่งหรืออ่านลูกฟาวล์ได้แม่นยำ เพราะท้ายที่สุดแล้วการทำคะแนนไม่ได้อยู่ที่ว่าตีโฮมรันได้สวยหรือบ่อยแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับการวิ่งเข้าเบสล้วน ๆ ซึ่งข้อดีของผู้เล่นจำพวกนี้ก็คือพวกเขาล้วนถูกมองข้ามจนทำค่าตัวค่อนข้างถูกมาก

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการคัดเลือกผู้เล่นจะไม่นำเรื่องหน้าตาหรือภาพลักษณ์ภายนอกมาเป็นตัวตัดสินเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นในทีมจึงมีตั้งแต่ชายผู้สูงวัย นักเบสบอลที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน และผู้เล่นที่หัวข้อเข่ามีปัญหาเรื้อรัง ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขานั้นล้วนเป็นผู้ที่ถือครองสถิติทำเบสได้สูงที่สุด เรียกฟาวล์จากคู่แข่งได้มากที่สุด และขว้างท่าประหลาดที่สุดจนฝ่ายตรงข้ามเดาทางไม่ถูกแต่ไม่มีใครสังเกตเห็น

แน่นอนว่า พอคู่แข่งและกองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามได้เห็นการรวมตัวของผู้เล่นที่สุดแสนจะประหลาด ต่างก็พากันหัวเราะด้วยความขบขัน แต่สุดท้ายผู้ที่จะหัวเราะได้ดังกว่าย่อมต้องเป็นฝ่ายที่ชนะ เพราะในที่สุด Oakland Athletics ก็ได้ทำสถิติใหม่ให้ถือกำเนิดขึ้นในวงการ Major league ด้วยการชนะติดต่อกันมากถึง 20 เกมจนทุกคนต่างยอมรับ

ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ทฤษฎี Money Ball ได้กลายเป็นที่ฮือฮาในวงการกีฬาและถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่เว้นแม้แต่สโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่าง ลิเวอร์พูล ที่นำไปบริหารทีมจนประสบความสำเร็จอย่างที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน