เหตุการณ์ไม่คาดฝัน อุบัติเหตุที่มาพร้อมกับความสูญเสีย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราจึงเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีการพัฒนาระบบดูแลความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่เสมอ แต่ย้อนไปในอดีตที่เทคโนโลยีทุกอย่างยังไม่ได้ดีแบบทุกวันนี้ได้เคยเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่มากมายโดยไม่เว้นแม้แต่ในโลกฟุตบอล เราเลยอยากจะพาทุกท่านหันกลับไปมองเบื้องหลังประวัติศาสตร์อันเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นเพื่อเป็นความรู้และระลึกถึงผู้เสียชีวิตเหล่านั้นกัน

โศกนาฏกรรมมิวนิคปี 1958

ถ้าพูดถึงกลุ่มเด็กดาวรุ่งของยูไนเต็ดที่นำพาความสำเร็จมาสู่สโมสร หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงยุค Class Of 92 ที่นำทัพโดยกุนซือระดับตำนานอย่างเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แต่แท้จริงแล้วเคยเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันขึ้นในปี 1955-1958 ที่เหล่านักเตะวัยคะนองศึกของปีศาจแดงได้สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วทั้งทวีปยุโรป โดยผลงานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดคือการเปิดบ้านถล่มอันเดอร์เลชท์ แชมป์จากเบลเยียมไปอย่างขาดลอยด้วยสกอร์ 10 ประตูต่อ 0 ในปี 1956

แต่แล้วความใฝ่ฝันของเหล่าสาวกยูไนเต็ดที่จะได้เห็นเหล่าดาวรุ่งพวกนี้พาสโมสรไปสู่ยุครุ่งเรืองก็ต้องหมดลง เพราะเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1958 เวลา 15.03 น. ขณะกำลังเดินทางกลับเมืองแมนเชสเตอร์หลังพึ่งคว้าชัยเหนือทีมเร้ด สตาร์ เบลเกรด แชมป์จากเซอร์เบีย จนผ่านเข้าไปเล่นรองรองชนะเลิศได้สำเร็จ

อุบัติเหตุครั้งนี้ได้คร่าชีวิตเหล่านักเตะและทีมงานไปถึง 23 คน โดยเหลือรอดเพียงแค่ 21 คน และหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือสตาร์ดังที่เป็นตัวความหวังของประเทศอังกฤษอย่าง ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้ที่ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ตำนานกองหน้ายูไนเต็ดได้เคยกล่าวไว้ว่ามีความสามารถที่เหนือกว่าตนเองเสียอีก

โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่

ขณะที่โศกนาฏกรรมมิวนิค คือความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดกับทีมฟุตบอลอังกฤษ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ก็ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดแก่เหล่าแฟนบอลที่ตามมาเชียร์ในสนาม

โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 1989 ในศึกเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศที่เมืองเชฟฟิลด์ ระหว่างสโมสรหงส์แดง
ลิเวอร์พูล ปะทะ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ที่เริ่มเกมไปได้เพียง 6 นาทีบริเวณอัฒจันทร์ฝั่งกองเชียร์ลิเวอร์พูลได้เกิดเหตุถล่มจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 96 คน และบาดเจ็บรวมกว่า 766 คน

จากผลการสอบสวนในภายหลังพบว่า สาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยในขณะนั้นได้ปล่อยให้แฟนบอลของฝั่งลิเวอร์พูลเข้าไปในแสตนเชียร์มากเกินกว่าที่ความจุสนามจะรับไหว และที่น่าหดหู่ที่สุดคือ ผู้เสียชีวิตส่วนมากไม่ได้สิ้นใจเพราะเหตุถล่ม แต่เกิดจากการสภาวะขาดอากาศหายใจขณะหนีตายกันอย่างอลหม่าน

แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเท่าไหร่ แต่รอยแผลที่ถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ยังคงสะท้อนภาพคืนวันอันเลวร้ายและคอยย้ำเตือนใจอยู่เสมอว่า ช่วงเวลาเหล่านั้นมันสุดแสนจะทรมานเพียงใดต่อผู้คนในวงการฟุตบอลอังกฤษ